การออกแบบตู้เสื้อผ้า


        ตู้เสื้อผ้าเป็นส่วนที่ใช้เก็บเครื่องนุ่งห่มหรือของใช้ประจำกาย เพื่อปกป้องเสื้อผ้าจากฝุ่นและแมลงต่างๆ

โดยทั่วไป ลักษณะของตู้เสื้อผ้าจะเป็นลักษณะบานเปิด อาจจะมีลิ้นชักอยู่ภายในบานเปิดหรืออยู่ภายนอก

ขนาดของตู้เสื้อผ้าจะขึ้นอยู่กับจำนวนของเสื้อผ้าว่ามีมากน้อยเพียงไร โดยเฉลี่ยแล้ว สำหรับ 1 คนจะใช้ตู้เสื้อผ้า

ขนาดกว้างประมาณ 120-150 ซม. เป็นอย่างน้อย ส่วนความลึกของตู้เสื้อผ้าโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 60 ซม.

ความสูงของตู้เสื้อผ้า ถ้าเป็นลักษณะของตู้ลอยตัวมักจะมีความสูงที่ประมาณ 180-200 ซม.

สำหรับตู้เสื้อผ้าแบบติดตาย (บิ้ลท์อิน) ก็มักจะสูงเท่ากับความสูงเพดาน 

*** สุดท้ายของการออกแบบตู้เสื้อผ้าคือให้เหมาะกับการใช้งานของผู้ใช้ เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด ***

 


ตัวอย่างภาพแสดงภายในของตู้เสื้อผ้า
  


ลักษณะสิ่งของที่จะจัดเก็บภายในตู้เสื้อผ้า

ประกอบด้วย ราวแขวนและชั้น ช่องหรือลิ้นชัก ซึ่งแยกเก็บตามลักษณะต่างๆดังนี้

  1. เสื้อผ้าแบบแขวน
     
    เป็นเสื้อผ้าที่มีการใช้งานเป็นประจำและรีดเรียบร้อย  เสื้อผ้าในลักษณะนี้มีความยาว 3 ขนาด คือ
    - ขนาดสั้น (เสื้อเดี่ยว) ประมาณ 80 ซม.
    - ขนาดยาว (ชุดกระโปรงหรือกางเกง) ประมาณ 120-140 ซม.
    - ขนาดยาวพิเศษ (ชุดกระโปรงยาว) ประมาณ 170-180 ซม.
     
    การออกแบบภายในตู้เสื้อผ้าแบบแขวน ควรทำราวแขวนตามความสูงของตู้ให้พอดีกับเสื้อผ้าที่จะจัดเก็บ สำหรับคุณสุภาพสตรี จะต้องคำนึงถึงชุดกระโปรงยาวด้วย
     
  2. เสื้อผ้าแบบพับเก็บ

    เป็นเสื้อผ้าที่มักจะไม่ต้องรีดให้เรียบ สามารถพับเก็บได้ เช่น เสื้อยืด เสื้อผ้าสำหรับใส่อยู่บ้าน เสื้อกันหนาว
    ผ้าเช็ดตัว เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการใช้งาน ลักษณะการเก็บอาจเป็นการพับ หรือ ม้วนเก็บไว้

    เสื้อผ้าแบบพับนี้นิยมพับวางไว้ในชั้นวางที่เป็นชั้นโปร่ง ความสูงของแต่ละชั้นประมาณ 30-45 ซม.
     
  3. เสื้อผ้าประเภทกระจุกกระจิก  

    เป็นเครื่องแต่งกายที่มีขนาดเล็ก เช่น ถุงเท้า ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดหน้า เหล่านี้ ควรเก็บไว้ในลิ้นชักเพื่อ
    สะดวกต่อการค้นหาและหยิบมาใช้งาน

    ส่วนเนคไทและเข็มขัดของคุณสุภาพบุรุษ ควรออกแบบให้มีที่เก็บโดยเฉพาะ เช่น อาจจะทำที่แขวนแยก
    ไว้ต่างหากที่บานประตูตู้ด้านใน ก็ได้
     
  4. เสื้อผ้าใช้ซ้ำ หรือ เสื้อผ้าส่งซัก

    สำหรับเสื้อผ้าประเภทใช้ซ้ำนี้ ควรจะมีที่เก็บเฉพาะไม่ให้ปะปนกัน เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้จะต้องการการระบายอากาศ และควรจะมีที่แขวนแยกต่างหากในส่วนที่สามารถระบายอากาศได้ดี

    สำหรับเสื้อผ้าส่งซัก อาจจะจัดอุปกรณ์เสริมภายในตู้ เช่น ตะกร้าสำหรับใส่เสื้อผ้าที่จะซัก
     
  5. ส่วนเก็บของใช้ที่เกี่ยวข้อง

    ของใช้ต่างๆอาทิ  ที่นอนสำรอง หมอน ผ้าห่ม อาจจะออกแบบตู้เสื้อผ้าให้มีส่วนเก็บของประเภทนี้ โดยทั่วไปนิยมเก็บไว้ส่วนบนสุดของตู้เสื้อผ้า เนื่องจากนานๆจึงจะนำออกมาใช้สักครั้ง แต่ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง อาจจะต้องออกแบบให้อยู่ในส่วนที่หยิบได้สะดวก

    บางคนอาจจะใช้เก็บกระเป๋าเดินทางด้วย จึงควรออกแบบส่วนนี้ให้เป็นที่โล่งกว้าง เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน



ขนาดของช่วงตู้เสื้อผ้า


แต่ละช่วงของตู้เสื้อผ้าจะมีขนาดกว้าง 45 ซม. ขึ้นไป และไม่ควรเกิน 60 ซม. ซึ่งจะเป็นขนาดที่สามารถทำบานประตูได้สัดส่วนที่พอเหมาะกับการใช้งาน

บานตู้  จะมีรูปร่างหน้าตาและประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไป

บานตู้แบบบานเปิด เมื่อเปิดออกจะเห็นสิ่งของภายในตู้ได้ทีเดียวทั้งหมดและเลือกหาสิ่งของภายในได้สะดวก

บานตู้แบบบานเลื่อน เป็นบานตู้ที่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของทั้งหมดได้ภายในคราวเดียวกัน เพราะเมื่อเลื่อนบานตู้
บานหนึ่งแล้วจะไปซ้อนทับกับอีกบานหนึ่งและจะมีช่องว่างระหว่างบานตู้ทั้งสอง ทำให้ฝุ่นละออง แมลงต่างๆ เข้าภายในตู้ได้ง่าย
แต่มีข้อดีคือ สามารถใช้ในเนื้อที่แคบๆได้ดี เพราะไม่กินเนื้อที่เมื่อเปิดบานประตู

** ตู้เสื้อผ้าที่ดี ควรออกแบบเป็นแบบบานเปิด เนื่องจากสามารถใช้ได้สะดวกกว่าบานชนิดอื่น

ลิ้นชัก  เป็นส่วนที่เก็บของชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือ เก็บเสื้อผ้าที่ต้องการความมิดชิด เช่น เสื้อ-ชุดชั้นในต่างๆ
ลิ้นชักส่วนใหญ่จะทำไว้ภายในตู้ ที่มีบานตู้ปิดทับอีกทีหนึ่ง  หรือ อาจจะออกแบบไว้ด้านหน้าของตู้เสื้อผ้าเลย สำหรับลิ้นชักที่เก็บของที่จำเป็นต้องใช้บ่อยๆ   เพราะว่าจะเปิดได้สะดวก แต่โดยมากก็ไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก

การแบ่งระยะภายในตู้ ตู้เสื้อผ้าของผู้ชายและผู้หญิงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

สำหรับเสื้อผ้าของผู้หญิง  จะพิเศษกว่านิดหน่อยเพราะจะมีชุดติดกันหรือชุดกระโปรงยาว เสื้อคลุมยาว จึงกินเนื้อที่ในด้านความสูง ดังนั้นราวแขวนเสื้อผ้าอาจจะต้องจัดทำเป็นพิเศษ เพื่อให้มีความยาวเหมาะสมกับชุดเสื้อผ้านั้นๆ
โดยมีความสูงที่ประมาณ 170-180 ซม.

สำหรับของเสื้อผ้าของผู้ชาย อาจจะออกแบบให้มีราวแขวนผ้า 2 ช่วง คือ ช่วงล่างสูงจากพื้น 100-110 ซม. และ ราวช่วงบนสูงขึ้นไปจากราวด้านล่างอีก 90-95 ซม.

จำนวนลิ้นชักของตู้เสื้อผ้า   จะมีเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน
ถ้าลิ้นชักที่อยู่ด้านนอกของตู้เสื้อผ้าโดยทั่วไปก็จะมีเพียงแค่ 1-2 ลิ้นชักเท่านั้น