การเลือกไม้ให้เหมาะกับงาน
การเลือกไม้ให้เหมาะกับงาน
ในการผลิตงานที่ใช้ไม้เป็นวัสดุ การเลือกไม้ให้เหมาะสมกับงานก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะหากเลือกไม้ที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ เลือกไม่เหมาะสมกับงานที่นำไปใช้ ก็ย่อมจะเกิดผลเสียขึ้น ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาในหลายๆแง่มุม ดังนี้
- จำนวนที่ต้องการ ในการผลิตชิ้นงาน จำเป็นต้องมีการแยกรายการของไม้ออกจากแบบก่อนว่า จะต้องใช้ไม้ขนาดเท่าไร และจำนวนเท่าไร รวมทั้งในกรณีที่มีการใช้ไม้มากกว่าหนึ่งชนิด ก็ต้องแยกรายการออกมาให้ชัดเจน รวมถึงอุปกรณ์ประกอบงานต่างๆ และจำนวนที่ต้องใช้
- ขนาดหน้าตัดของไม้ ต้องคำนึงถึงขนาดที่เป็นมาตราฐานตามที่จำหน่ายกันตามท้องตลาด โดยปกติแบ่งเป็น 2 ชนิด
- หน้าตัดเป็นนิ้ว ความยาวเป็นเมตร จำหน่ายเป็นคิวบิคฟุต ส่วนใหญ่คิดเหมือนกับไม้ทั่วๆไป เช่น ไม้ยาง ไม้เต็ง ไม้ตะแบก ไม้เหล่านี้มีหน้าตัด (หนาxกว้าง) 1×1 นิ้ว 1×1 1/2 นิ้ว 1×2 นิ้ว 1 1/2×3 นิ้ว 2×4 นิ้ว และมีหน้าตัดเพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งนิ้ว
- ส่วนความยาวใช้หน่วยเป็นเมตร และเพิ่มความยาวทุกๆ 0.50 เมตร เช่น 1, 1.50, 2, 2.50 เมตร แต่ไม้เบญจพรรณที่ผ่านการแปรรูปมักมีขนาดเท่าหรือต่ำกว่าขนาดจริงที่กำหนดด้านละประมาณ 1/8 – 1/4 นิ้ว ดังนั้นก่อนใช้งานต้องกะขนาดไม้ที่จะใช้ให้ชัดเจนก่อนสั่ง
- หน้าตัดเป็นนิ้ว ความยาวเป็นฟุต จำหน่ายเป็นคิวบิคฟุต วิธีนี้ใช้กับไม้สัก โดยมีหน้าตัดต่างๆ กัน 1×1 นิ้ว 1×1 1/4 นิ้ว 1×1 1/2 นิ้ว 1 1/4×1 1/4 นิ้ว 1 1/2×1 1/2 นิ้ว ความหนาและความกว้างนี้จะเพิ่มขึ้นทุกๆ 1/4 นิ้ว และมีความยาวเพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งฟุต เช่น 1, 1 1/2, 2, 2 1/2, 3 ฟุตโดยไม้สักที่แปรรูปมานั้นจะมีขนาดเกินกว่าขนาดจริงตามต้องการ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ใช้
การซื้อไม้ นอกจากการซื้อไม้ที่เลื่อยเป็นท่อนโดยมีขนาดกว้างยาวตามมาตราฐานแล้ว ในกรณีที่ต้องการไม้ขนาดพิเศษกว่าที่จำหน่าย สามารถสั่งร้านค้าให้เลื่อยเป็นพิเศษได้ หรือหากต้องการไม้หน้าใหญ่จริงๆ อาจใช้วิธีเพลาะไม้เองก็ได้
- ชนิดของไม้ ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น นำไปใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ จะต้องมีการคัดเลือกสี และลายให้ดูสวยงามใกล้เคียงกัน ในกรณีที่ต้องการโชว์ลายเนื้อไม้ เช่น ไม้สัก ถ้ามีลายเนื้อไม้มาก ชัดเจน จะมีราคาแพงขึ้น สำหรับการใช้งานโครงสร้าง หรือ ใช้เป็นโครงภายในเฟอร์นิเจอร์ก็ต้องเลือกใช้ไม้ที่มีความแข็งแรง มีความเหนียว ไม่แตกหักได้ง่าย
- เกรดของไม้ ผู้ขายจะแบ่งเกรด หรือคุณภาพของไม้ออกเป็น 2 แบบ คือไม้คัด ซึ่งเป็นไม้ชั้นดีมีตำหนิน้อย และไม่มีตาไม้ และไม้คละ ซึ่งเป็นไม้คุณภาพรอง มีตำหนิมาก และราคาถูกกว่า ซึ่งการเรียกเกรดของไม้จะแตกต่างกันไปตามร้านค้า (ดังนั้นจึงควรเห็นของก่อนสั่ง จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาเปลี่ยน)
- การแต่งผิวไม้ การแต่งผิว หรือเคลือบผิวจึงทำเพียงเฉพาะด้านที่โชว์ ซึ่งอาจเป็นเพียงด้านเดียว สองด้าน หรือสามด้าน ฉะนั้นควรเลือไม้เกรดปานกลาง และคัดเลือกไม้ด้านดี (ลายสวย ไม่มีตำหนิ) เท่าที่ต้องการอีกครั้ง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
- ไม้ที่ผ่านการอบ ควรเลือกไม้ที่ผ่านการอบ ซึ่งเป็นไม้ที่มีปริมาณความชื้นเหมาะสม หรือมีปริมาณน้ำอยู่ในเนื้อไม้ประมาณ 12-15 เปอร์เซ็นต์ ไม้ลักษณะนี้มีคุณสมบัติที่ดีคือ ไม่บิดงอเมื่ออากาศภายนอกไปสัมผัสผิวไม้ แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อไม้ที่ไม่ได้ผ่านการอบมาใช้ ควรนำมาผึ่งในร่มเพื่อให้อากาศเข้าไปสัมผัสกับไม้สักระยะหนึ่งก่อน