การทำสีเฟอร์นิเจอร์สำหรับภายนอก
ภาพเก้าอี้สนามที่ผ่านการตากแดดฝนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
สำหรับเฟอร์นิเจอร์ประเภทเฟอร์นิเจอร์สนาม (outdoor furniture, garden furniture ) ที่ต้องโดนแดดโดนฝน เป็นประจำ ตัวเนื้อไม้ที่โดนรังสี UV จะทำให้ไม้ค่อนข้างจะผุพังเร็ว ตัวไม้จะมีสีซีดจางและร่องเสี้ยงตามเนื้อไม้ที่กว้างและลึก หรือบางครั้งก็มีรอยแตกร้าว บ้างประปราย
สำหรับคนที่ชอบแบบ ให้มันดูเก่าตามธรรมชาติก็อาจเลือกที่จะไม่ทำอะไร แต่สำหรับผู้ที่ชอบให้มันดูเหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ ก็ต้องมีการดูแลรักษากันหน่อย โดยเราจะมาแนะนำการทำสีสำหรับเฟอร์นิเจอร์ภายนอกกัน โดยเริ่มต้นจากการเลือกประเภทสีที่จะใช้ก่อน (สำหรับเฟอร์นิเจอร์ภายนอก) สีที่หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ที่สามารถใช้กับงานภายนอกมีดังนี้
สีสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ภายนอก
1. สีย้อมไม้ - สูตรน้ำมัน (Woodstain)
2. สีย้อมไม้ - สูตรน้ำ (Waterstain)
3. น้ำยารักษาเนื้อไม้ (Teak Oil)
4. โพลียูรีเทน ประเภทสำหรับงานภายนอก (Polyurethane for Exterior)
ม้านั่งที่ผ่านการทำสีครึ่งตัว เมื่อใช้ไปนานๆเป็นแบบนี้
ประเภทของสีย้อมไม้
โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของสีย้อมไม้ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ สีย้อมไม้สูตรน้ำ และสีย้อมไม้สูตรน้ำมัน
1. สีย้อมไม้สูตรน้ำ
สีย้อมไม้สูตรน้ำนี้สามารถนำไปทาบนชิ้นงานได้เลย โดยก่อนทาควรจะขัดชิ้นงานให้เรียบร้อย และใช้แปรงปัดฝุ่นที่เกาะอยู่บนผิว/ร่องเสี้ยน ของชิ้นงานออกให้เรียบร้อย เพื่อให้สีที่ทาลงไปสามารถซึมเข้าสู่เนื้อไม้ได้ดี บางยี่ห้ออาจจะให้ผสมน้ำเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย เพื่อไม่ให้สีมันข้นเกินไป เพราะถ้าสีข้นเกินไปก็จะทาค่อนข้างยากและเห็นรอยแปรงได้ง่าย
สีย้อมไม้สูตรน้ำนี้เมื่อทาลงไปบนงานไม้แล้วเนื้อฟิล์มจะมีความคงทนยึดเกาะกับไม้ได้ดีกว่าสูตรน้ำมัน แห้งเร็ว และไม่มีกลิ่นฉุน
นอกจากนี้จุดเด่นของสีจำพวกสูตรน้ำ คือมันเป็นสีที่มีความปลอดภัยสูง จึงนิยมนำไปใช้กับงานของใช้หรือของเล่นเด็ก ที่ต้องการความปลอดภัยสูง ไม่มีสารตะกั่ว ปรอท หรือโลหะหนักเจอปน ซึ่งอาจมีอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ โดยเวลาทาอาจต้องทาทับประมาณ 3-4 รอบถึงจะเห็นสีหรือได้สีตามที่ต้องการ
2. สีย้อมไม้สูตรน้ำมัน
สีย้อมไม้สูตรน้ำมัน สามารถที่จะนำไปทาบนชิ้นงานได้เลย และเตรียมชิ้นงานวิธีเดียวกันสีย้อมไม้สูตรน้ำ แต่หากต้องการผสมเพื่อให้สีไม่ข้นเกินไป ให้ใช้ทินเนอร์ที่ใช้สำหรับผสมสีย้อมไม้สูตรน้ำ(ดูเบอร์ให้ถูกต้องด้วย) มาผสมก่อนใช้งาน โดยอัตราการผสมจะอยู่ที่ไม่เกิน 10% ต่อปริมาณสีที่ใช้
ตัวสีจะมีกลิ่นฉุนรุนแรง แต่เมื่อทาสีลงบนงานไม้แล้วจะซึมลึกได้ดีกว่าสูตรน้ำ ดังนั้นสีย้อมไม้สูตรน้ำมันจึงเหมาะกับงานทั้งภายในและภายนอก ฟิล์มที่อยู่บนผิวไม้จะแข็ง และทนทานต่อแสงแดด และฝนได้ดีกว่า เวลาทาสีก็จะไม่ค่อยเพี้ยนไปจากต้นแบบ ทาทับเพียง 2 ครั้งก็จะได้สีไม้สวยๆตามที่ต้องการ แต่ข้อเสียของสีย้อมไม้สูตรน้ำมันคือ มันแห้งช้ากว่าแบบน้ำ อย่างน้อย 8 ชม. จะแห้งผิวหน้าพอจะสัมผัสได้ และ อย่างน้อย 24-48 ชม. เพื่อให้เนื้อสีซึมลึกลงสู่เนื้อไม้และแห้งสนิท นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะต้องผสมทินเนอร์ของสียี่ห้อนั้นๆเท่านั้นเพื่อเจือจางสีก่อนจึงจะสามารถเอาสีมาทาได้
อย่างไรก็ตามสีย้อมไม้ทั้ง 2 แบบมีระยะเวลาในการปกป้องต่อแสงแดด และฝน ตั้งแต่ 6 - 36 เดือน ขึ้นกับสภาพอากาศเลวร้ายแค่ไหน โดยเฉพาะเมืองไทยที่แดดแรงสุดๆและฝนก็ตกบ่อยมาก แต่เมื่อเห็นสีตัวเฟอร์นิเจอร์มันซีดจาง แล้วเราก็สามารถเตรียมผิวชิ้นงานด้วยวิธีเดิม อาจจะอุดร่องไม้ที่มีขนาดใหญ่ด้วยพวก วู๊ดฟิลเลอร์ ขัดพื้นผิวให้เรียบ ปัดฝุ่นออก แล้วก็ทาทับแบบเดิมได้
นอกจากการเลือก ประเภทสีย้อมไม้ระหว่างสูตรน้ำกับสูตรน้ำมันแล้ว เราจะต้องเลือกความเงา-ด้านของสีย้อมไม้ที่เราจะใช้ด้วย เพื่อเวลาทาจะได้เห็นลายไม้สวยๆอย่างที่ต้องการ โดยสีย้อมไม้จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
1. สีย้อมไม้แบบใส
เป็นสีย้อมไม้แบบโปร่งแสง นิยมใช้ในงานไม้ที่ต้องการโชว์ความสวยงามหรือความคลาสสิคของไม้ดั้งเดิม ผลิตจากผงสีและเรซิ่น จึงเหมาะกับการใช้ทางานไม้ที่อยู่กลางแจ้งได้ดี
2. สีย้อมไม้แบบเงา
เป็นสีย้อมไม้แบบกึ่งโปร่งแสง คือทาลงไปแล้วก็จะมีสีอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถโชว์ความสวยงามตามธรรมชาติของลายไม้ได้อยู่ นิยมใช้ทาทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะการทาเฟอร์นิเจอไม้จะนิยมใช้สีย้อมไม้แบบเงานี้มาก ป้องกันการซีดจาง กันน้ำ กันแดด กันความชื้นได้ดี
3. สีย้อมไม้แบบกึ่งเงา
สีย้อมไม้แบบนี้ เป็นแบบกึ่งเงากึ่งด้าน โดยนิยมใช้ทาพวกวงกบ ผนัง ประตู หน้าต่าง สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก ป้องกันแสงแดดได้ดี และมีส่วนผสมของสารกันเชื้อราผสมเข้าไปด้วย
ทีคออยล์ - น้ำมันรักษาเนื้อไม้
สำหรับผู้ที่ต้องการให้ไม้มี ลักษณะใกล้เคียงกับไม้ในธรรมชาติที่สุด อาจจะเลือกใช้น้ำมันรักษาเนื้อไม้ที่เรียกว่า ทีคออลย์ โดยวิธีใช้จะคล้ายกันกับสีย้อมไม้ คือไม่ต้องผสมอะไร ทาได้เลย โดยสามารถใช้ผ้าชุบทีคออลย์เช็ดให้ทั่วเฟอร์นิเจอร์ และต้องใช้เวลารอให้แห้ง (ราวๆ 24-48 ชม.) ไม้จะดูดซึมน้ำมันเหล่านี้ เข้าไปในเนื้อไม้เอง โดยหลักการทำงานของมันคือ ไม้มีน้ำมันอยู่ในตัวเนื้อไม้ แต่เมื่อมันโดนแสงแดดเป็นระยะเวลานานๆ น้ำมันที่มีในเนื้อไม้มันระเหยออกไปจนหมดและทำให้ไม้นั้นผุพังเร็ว น้ำมันรักษาเนื้อไม้ ก็เหมือนน้ำมันของเนื้อไม้ที่จะดูดซึมเข้าไปในเนื้อไม้และทำให้ไม้ชุ่มชื้น ไม่ผุกร่อนง่าย (เหมือนที่เราใช้น้ำของฮาดะลาโบ ที่คุณเอาไปตบๆบนผิวหน้า เพื่อให้ผิวเราดูดซึมความชุ่มชื้นทำนองนั้นหละ)
แต่ระยะเวลาความคงทนของน้ำมันจะอยู่ประมาณ 6 เดือน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะต้องนำเอาน้ำมันตัวนี้มาเช็ด ตัวเฟอร์นิเจอร์ของเราอีกครั้ง (หรือจะ 1 ปี ค่อยทำทีก็ได้ไม่เป็นไร)
จุดเด่นคือ มันใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด (ไม่ได้บอกว่าสวยสุดนะ สวยไม่สวยแล้วแต่คนมองครับ) และไม่ต้องใช้แปรงเอาเศษผ้าชุบแล้วเช็ดได้เลยครับ
แบบโพลียูรีเทนสำหรับงานภายนอก
แบบนี้ค่อนข้างแพง และช่างที่ใช้ต้องมีเทคนิคด้วย เพราะต้องผสมทินเนอร์ด้วยอัตราส่วนที่ถูกต้อง ซึ่งเอาไว้จะเอาข้อมูลมาลงในองค์ความรู้ถัดๆไปครับ
นี่ก็เป็นประเภทและการเลือกใช้สีสำหรับเฟอร์นิเจอร์ภายนอก ซึ่งก็แล้วแต่เจ้าของเฟอร์นิเจอร์ว่า ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น เลือกให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ ส่วนจะเป็นยี่ห้อไหนก็ต้องลองเปรียบเทียบสีสัน คุณสมบัติ และราคากันเอาเอง ราคาไม่แตกต่างกันมาก ขอแค่เลือกให้ถูกใจเจ้าของบ้านก็พอแล้ว